วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

ดันไทยขึ้นผู้นำ "บิวตี้แอนด์เวลเนสฮับ" เอเชีย (3 E) Beauty & Wellness Hub of Asia

ไทยจัดอีเวนต์โลกดันขึ้นแท่นบิวตี้ฮับ บูมเครื่องสำอางธรรมชาติโตแสนล.

ไทยยึดอีเวนต์โลก จัดงาน IFSCC ดันไทยขึ้นผู้นำ "บิวตี้แอนด์เวลเนสฮับ" เอเชีย ขานรับตลาดบูมยอดขายพุ่งปีละ 115,000 ล้าน
กลุ่มทุนแห่เปิดโรงงานกว่า 760 แห่ง บูมใช้พืชเกษตรเป็นสารสกัดเคมีเครื่องสำอางป้อนตลาดโลก
รศ.ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเจอรัล โปรดักส์ จำกัด
ผู้วิจัยพัฒนาและผลิตสารสกัดจากพฤกษชาติเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และนายกสมาคมนักเคมีเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ จัดงานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ (International Federation of the Societies of Cosmetic Chemists : IFSCC) ครั้งแรกในรอบ 52 ปี เตรียมจัดระหว่าง 31 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2554 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีผู้ประกอบการและนักวิจัยเข้าร่วมจาก 58 ประเทศ และผู้เข้าประชุมกว่า 1,000 คน เป็นกลุ่มสมาคมนักเคมีเครื่องสำอาง นักวิทยาศาสตร์ นักเคมี นักธุรกิจในอุตสาหกรรม มีผู้จัดแสดง 150 บูท เป็นกลุ่มสมุนไพร คลินิก โรงพยาบาล เข้าชมบูทนิทรรศการการแสดงงานอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 คนจึงวางแผนใช้งานนี้แสดงพลังและผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพแห่งเอเชีย หรือ Beauty & Wellness Hub of Asia ในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบพืชเกษตร สมุนไพร พฤกษชาติของโลก ซึ่งใช้วัตถุดิบพืชเกษตรเป็นสารสกัดเคมีผลิตเครื่องสำอางจากธรรมชาติเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในตลาดโลก และไทยมีศักยภาพสูงมากเนื่องจากสภาพพื้นที่โดยรวมของประเทศเป็นแหล่งเพาะปลูก ปัจจุบันผลิตสินค้าพืชเกษตรวัตถุดิบเคมีเครื่องสำอางของไทยทำรายได้สูงถึง 115,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกไปต่างประเทศ 65,000 ล้านบาท จำหน่ายภายในประเทศ 50,000 ล้านบาท

แนวโน้มยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเติบโตปี 2554 เฉลี่ย 25-40% จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยเมื่อได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน IFSCC นอกจากจะสร้างแรงจูงใจให้นักเคมี นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจในอุตสาหกรรม สนับสนุนเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ความงามแล้ว ยังขยายผลการพัฒนาตลาดพืชเกษตรเพื่อเป็นวัตถุดิบเคมีเครื่องสำอางเติบโตตามขึ้นไปด้วยไม่ต่ำกว่า 20% สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าขายได้ราคาสูงกว่าปกติมากขึ้น 10-1,000 เท่า เช่น น้ำมันรำข้าว เมื่อขายเป็นสารสกัดจะมีมูลค่าถึง 30,000 บาท/กิโลกรัมส่วนพืชเกษตรที่ได้รับความนิยมนำไปผลิตเป็นสารสกัดเคมีเครื่องสำอาง ปัจจุบันมีหัวหอม กวาวเครือขาว-แดง มะเขือเทศ ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้ พริก เมล็ดองุ่น กระชายดำ มะรุม ทับทิม มังคุด น้ำมันรำข้าว กระเทียม อนาคตพืชที่ตลาดจะมีความต้องการสูง ได้แก่ โปรตีนจากรังไหม
เปลือกมังคุด เมล็ดลำไย ข้าว คอลลาเจนจากเกล็ดปลา และอื่น ๆ เพราะเทรนด์การใช้เครื่องสำอางช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เน้นผลิตภัณฑ์ เพื่อผิวขาว คุมน้ำหนัก เช่น ไวเทนนิ่ง และเน้นสุขภาพ คอลลาเจนชะลอวัย (anti aging) อาหารเสริมช่วยรักษาโรคเลือด ความดันโลหิตสูง

โดยเฉพาะน้ำมันรำข้าว ดร.พรรณวิภากล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนคนไทยและชาวต่างชาติสนใจเปิดโรงงานในประเทศไทยมีรวมกว่า 760 แห่ง นำพืชเกษตรมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เคมีเครื่องสำอาง รวมทั้งใช้โรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าให้เครื่องสำอางแบรนด์เนมหลายยี่ห้อ เช่น บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์
เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ผลิตให้แคล์รอล ชวาร์สคอฟ ลอรีอัล และอีกหลายโรงงานผลิตให้ แบรนด์ดัง ๆ อย่างพีแอนด์จีไลอ้อน คาโอฯ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และเครือยูนิลีเวอร์ และสหพัฒน์ บีเอสซี โอเรียนทอล พริ้นเซสส่วนกลยุทธ์การนำพืชเกษตรมาสกัดนั้น โรงงานส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นให้เกิด 3 E คือ Effective-มีประสิทธิภาพ ซึ่งพิสูจน์ได้ โดยวิทยาศาสตร์ Economic-ขายในราคาเป็นเหตุผลนำรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ Ecologic-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม "ไทยเป็นฐานการ
ผลิตแบรนด์เคมีเครื่องสำอางจากพืชเกษตร สมุนไพร พฤกษชาติ แบรนด์ดังและขายตรงทั่วโลก เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญอันดับต้น ๆ

ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนก่อตั้งโรงงานกว่า 760 แห่ง มีบุคลากรวิจัย เครื่องมือทางเทคโนโลยี บริการวิเคราะห์พัฒนาการผลิตเครื่องสำอาง พร้อมให้บริการวิเคราะห์สูตรผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาตรฐานของส่วนผสมโดยคัดเลือกวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ผลิตได้ตามข้อกำหนด

GMP : Good Manufacturing Practice ซึ่งเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่มีมาตรฐาน GMP และควบคุมการผลิตตามมาตรฐาน HACCP : Hazard Analysis and Critical Control Points อย่างสม่ำเสมอ"

ดร.พรรณวิภากล่าว
สำหรับการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์เคมีเครื่องสำอางของไทยที่ใช้สารสกัดจากพืชเกษตรธรรมชาติ เป็นที่ต้องการของตลาดหลักได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ไทยส่งออก สมุนไพรปีละเกือบ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ เครื่องดื่มและอาหาร 50,000 ล้านบาท เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อการอาบน้ำ 35,000 ล้านบาท เครื่องหมอและสีเมกอัพ 31,000 ล้านบาทสินค้าใช้ในครัวเรือน 3,900 ล้านบาท


ประชาชาติธุรกิจ 31 มี.ค. 2554



ขอบคุณที่มา เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น